๑๐. วัตถุเจือปนอาหาร กฎระเบียบไทย กับ มาตรฐานเทศ ตอน ๓

การผลิตอาหารที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหารต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบมาตรฐานอย่างเคร่งครัด
ผู้ประกอบการต้องเข้าใจหลักเกณฑ์การใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างถูกต้องชัดเจน

มาตรฐานทั่วไปสำหรับการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ (Codex General Standard for Food Additives)
จัดทำปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารที่ให้ใช้ได้เป็นตารางใน ๓ รูปแบบดังนี้
    ตาราง ๑ หรือ Table One กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารที่ให้ใช้ได้โดยเรียงตามตัวอักษรของวัตถุเจือปนอาหาร
    ตาราง ๒ หรือ Table Two กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารที่ให้ใช้ได้โดยเรียงตามลำดับเลขที่ของหมวดอาหาร
    ตาราง ๓ หรือ Table Three ไม่ได้กำหนดปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารที่ให้ใช้ได้ แต่ให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น

บทความนี้มีเนื้อหา ๒ ส่วน
ส่วนแรกเป็นการอธิบายองค์ประกอบต่าง ๆ ของตารางปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารทั้งสามตาราง
ส่วนที่สองเป็นแนวทางการนำตารางทั้งสามไปใช้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์

ก. องค์ประกอบของตารางปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารที่ให้ใช้ได้ในอาหารที่ควรทำความเข้าใจ ดังนี้

   Food Additive หรือวัตถุเจือปนอาหาร:  ตารางทั้งสามแสดงใน ๒ ลักษณะ
       ๑. ชื่อวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิด 
       ๒. ชื่อกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหาร

   Food Category หรือหมวดอาหาร:  ตารางระบุทั้งหมวดอาหารและเลขที่หมวดอาหาร (Food Category No.)
    ข้อมูลนี้ปรากฎเฉพาะในตาราง ๑ และตาราง ๒ เท่านั้น

   INS ย่อมาจาก International Numbering System เป็นหมายเลขประจำของวัตถุเจือปนอาหารหรือกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหาร
    ตารางทั้งสามแสดงเลข INS กำกับชื่อวัตถุเจือปนอาหารเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงวัตถุเจือปนอาหารชนิดใดหรือกลุ่มใด

   Functional Class หรือกลุ่มหน้าที่:  เป็นการบอกหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารในอาหารที่ผลิตขึ้น 
    เป็นข้อมูลปรากฎในตาราง ๑ และตาราง ๓ เท่านั้น

   Max. Level หรือปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้:  หมายถึงปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดที่ให้ใช้ได้ในอาหารแต่ละหมวด

   Notes หรือหมายเหตุ:  เป็นเงื่อนไขการใช้วัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดในอาหารแต่ละหมวด
    รายละเอียดของเงื่อนไขการใช้วัตถุเจือปนอาหารอยู่ตอนท้ายของตารางทั้งสองโดยเรียงตามหมายเลข Note

   Year Adopted หรือปีที่ให้ใช้ได้:  หมายถึงปีที่มาตรฐาน Codex เห็นชอบให้วัตถุเจือปนอาหารชนิดนั้น ๆ ใช้ได้ในอาหาร

   Acceptable, including foods conforming to the following commodity standards:  
    เป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัตถุเจือปนอาหารชนิดนั้นใช้ได้ในอาหารที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุด้วย
    เป็นข้อมูลในตาราง ๓ เท่านั้น

   ANNEX TO TABLE THREE หรือภาคผนวกของตาราง ๓:  แบ่งเป็น ๒ ส่วน
        ส่วนที่ หมวดอาหารที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขของตาราง ๓ 
        ส่วนที่ ๒ มาตรฐานอาหารที่อยู่ในเงื่อนไขของตาราง ๓

ข. แนวทางการนำตารางปริมาณสูงสุดของวัตถุเจือปนอาหารไปใช้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์
    ขอแบ่งตารางทั้งสามเป็น ๒ กลุ่มเพื่อประกอบการอธิบายที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ
        กลุ่ม ๑ ประกอบด้วย ตาราง ๑ และ ตาราง ๒
        กลุ่ม ๒ ประกอบด้วย ตาราง ๓ เท่านั้น

   สมมตว่าผู้ประกอบการทราบหมวดของอาหารที่ต้องการผลิตและทราบชนิดของวัตถุเจือปนอาหารที่ต้องการใช้แล้ว
   การตรวจสอบกับหลักเกณฑมาตรฐานการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ สามารถทำได้ง่าย ๆ 2 ขั้นตอน ดังนี้

   ขั้นที่ ๑ การตรวจสอบกับข้อมูลในตารางกลุ่ม ๑ ซึ่งประกอบด้วยตาราง ๑ และ ตาราง ๒ ที่มีข้อมูลในทำนองเดียวกัน
            o เมื่อตรวจสอบข้อมูลของวัตถุเจือปนอาหารที่ต้องการใช้ในตาราง ๑
              จะทำให้ทราบว่าวัตถุเจือปนอาหารนั้นสามารถใช้ได้ในอาหารชนิดใดบ้าง รวมทั้งใช้ได้ในอาหารที่ต้องการผลิตหรือไม่ หรือ
            o เมื่อตรวจสอบข้อมูลของหมวดอาหารที่ต้องการผลิตในตาราง ๒ 
              จะทำให้ทราบว่าหมวดอาหารนั้นสามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดใดได้บ้าง รวมทั้งใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ต้องการใช้ได้หรือไม่

            ทั้งนี้ เมื่อพบว่าอาหารที่ต้องการผลิตสามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ต้องการใช้ได้แล้ว 
            สิ่งสำคัญคือ ต้องอ่านรายละเอียดของเงื่อนไขในหมายเหตุหรือ Note ให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

            แต่ถ้าไม่พบข้อมูลว่า อาหารที่ต้องการผลิตสามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ต้องการใช้ได้หรือไม่ 
            ให้ตรวจสอบกับข้อมูลในตารางกลุ่ม ๒

   ขั้นที่ ๒ การตรวจสอบกับข้อมูลในตารางกลุ่ม ซึ่งก็คือตาราง ๓ นั่นเอง
            วัตถุเจือปนอาหารในตาราง ๓ สามารถใช้ได้กับอาหารทุกหมวดโดยไม่ได้กำหนดปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ไว้
            แต่ให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น และมีเงื่อนไขตามภาคผนวกดังนี้
                ๑. ถ้าเป็นอาหารในภาคผนวก 'ส่วนที่ ๑ หมวดอาหารที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขของตาราง ๓'
                    อาหารตามรายการในภาคผนวกส่วนนี้ไม่สามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารตามเงื่อนไขของตาราง ๓ ได้
                   ให้ใช้วัตถุเจือปนอาหารตามที่กำหนดไว้ในตาราง ๑ และตาราง ๒ เท่านั้น
                ๒. ถ้าเป็นอาหารในภาคผนวก 'ส่วนที่ ๒ มาตรฐานอาหารที่อยู่ในเงื่อนไขของตาราง ๓'
                    ให้อาหารที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้เท่านั้นที่สามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารตามเงื่อนไขของตาราง ๓ ได้
                    อาหารในหมวดเดียวกันแต่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้ก็ไม่สามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารตามเงื่อนไขของตาราง ๓ ได้

การเรียนรู้หลักเกณฑ์ของมาตรฐานการใช้วัตถุเจือปนอาหารของโคเด็กซ์ อาจมีความซับซ้อนเล็กน้อย
แต่เมื่อเข้าใจรายละเอียดอย่างแจ่มชัด ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อต้องนำหลักเกณฑ์เหล่านี้ไปใช้
รวมทั้งทำให้การทำความเข้าใจหลักเกณฑ์กฎระเบียบของประเทศต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

๔. กฎระเบียบแนวดิ่ง กฎระเบียบแนวระนาบ ตอน ๑

๖. ตั้งมาตรฐานอาหารให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ยากอย่างที่คิด

๑๓. สูตรอาหาร เป๊ะตามกฎระเบียบ